ประวัติศาสตร์
มีคนกล่าวไว้ว่า การรู้จักตัวเองนั้น ยิ่งสืบค้นไปได้ไกลเท่าใด ก็ยิ่งจะรู้ถึงความลึกซึ้งของบ้านเมืองได้เท่านั้น เสมือนกับการยิงธนูที่จำเป็นต้องง้างไปให้ไกลฉันใดก็ฉันนั้น ขณะที่หลักฐานทางธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดีในจังหวัดลำปางนั้น กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากแทบจะทุกอำเภอ ในที่นี้จึงขอรวบรัดอธิบายภาพรวมของพัฒนาการยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นและสำคัญในระดับชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่นอกเขตศึกษาก็ตาม ความพยามยามนี้เป็นการปูพื้นฐานให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการประวัติศาสตร์ อันจะส่งต่อความเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารการปกครองที่มีตำแหน่งอยู่อำเภอเมืองลำปาง
ร่องรอยบรรพบุรุษของมนุษยชาติ มนุษย์เกาะคา
พบหลักฐานของมนุษย์ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ มนุษย์โอโมอีเรคตัส หรือ มนุษย์เกาะคาที่มีอายุกว่า 500,000 ปี ร่วมสมัยกับมนุษย์ปักกิ่ง และมนุษย์ชวามีการค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกกะลาด้านขวา ฟันหน้าข้าง ฟันด้านขวา และส่วนอื่นๆบริเวณหาดปู่ด้าย ต.นาแส่ง อ.เกาะคา ทางทิศใต้ของตัวเมืองลำปาง ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2541
ผาศักดิ์สิทธิ์กับการตั้งถิ่นฐาน
พัฒนาการต่อมา ปรากฎหลักฐานแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อายุกว่า 3,000 ปี ที่ประตูผา รอยต่อระหว่าง อ.แม่เมาะ – อ.งาว ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน ซึ่งมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบพิธีศพ พร้อมกับภาพเขียนสีจำนวนมากถึง 1,872 ภาพที่แสดงถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และพิธีกรรมไว้ แบ่งเป็น 7 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผาเลียงผา กลุ่มที่ 2 ผานกยูง กลุ่มที่ 3 ผาวัว กลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ กลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง กลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน กลุ่มที่ 7 ผาล่าสัตว์และผากระจง (วลัยลักษณ์,2545) อย่างไรก็ตามในบริเวณใกล้เคียงกัน ก็ยังปรากฎภาพเขียนสีในถ้ำต่างๆด้วย เชื่อกันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญก็คือ เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อ ในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ยุคก่อน ประการสำคัญต่อมา ก็คือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งแต้มเป็นภาพเขียนสีจำนวนมหาศาลนั่นเอง